ประวัติโรงเรียนสะบ้าย้อยวิทยา
โรงเรียนสะบ้าย้อยวิทยา ตั้งอยู่เลขที่ ๒๐๙ หมู่ที่ ๑ ตำบลสะบ้าย้อย อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา หลักกิโลเมตรที่ ๒๔ เส้นทางหลวงหมายเลข ๔๐๘๕ (เทพา-ยะหา) อยู่ตรงกันข้ามกับที่ว่าการอำเภอสะบ้าย้อย ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร เปิดสอนในช่วงชั้นที่ ๓ - ๔
โรงเรียนตั้งอยู่ในพื้นที่ดิน เดิมซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์ขององค์การบริหารส่วนตำบลสะบ้าย้อยในเนื้อที่ ประมาณ ๑๕๐ ไร่ ได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นที่ตั้งโรงเรียนตามหนังสือจังหวัด สข. ที่ ๒๓/๙๒๐๖ ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๑๕ ที่ดินส่วนนี้เดิมทางราชการได้จัดสรรให้ประชาชนในท้องที่หรือที่อพยพมาจากถิ่นอื่นเข้าทดลองปลูกกาแฟ และถือโอกาสจัดเป็นที่พักอาศัยไปด้วย จึงทำให้เกิดสภาพหมู่บ้านเล็ก หมู่บ้านน้อย เรียกว่า "หมู่บ้านสวนกาแฟ" ต่อมาการทำสวนกาแฟ ขาดความนิยม ประชาชนจึงหันไปประกอบอาชีพอื่น หน่วยงานต่างๆ จึงขอใช้พื้นที่เหล่านี้ นั่นหมายถึงโรงเรียนก็มีสภาพขอใช้พื้นที่แห่งนี้ด้วย อาณาเขต ๑๕๐ ไร่ ทิศเหนือ ใต้ ตะวันตก จัดเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ส่วนทิศตะวันตกทางหลวงแผ่นดินสาย ๔๐๘๕
ในต้นปีการศึกษา ๒๕๑๔ ประชาชน ในท้องที่อำเภอสะบ้าย้อย ได้เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษา ประกอบกับมีความต้องการที่จะให้อำเภอมีโรงเรียนประจำอำเภอเพื่อจะได้ส่งบุตรหลานได้ศึกษาต่อระดับสูงขึ้นจึงพร้อมใจเสนอโครงการผ่านอำเภอ ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากท่านนายอำเภอ(นายอำนวย สัตยายน) และศึกษาธิการอำเภอ(นายสุกิจ กิตยวัฒน์) ในขณะนั้นเป็นตัวตั้งตัวตีเสนอเรื่องราวขอจัดตั้งพร้อมทั้งติดตามผล ประสานงาน จนประสบความสำเร็จ กรมสามัญศึกษาอนุมัติให้จัดตั้งและเปิดทำการสอนตั้งแต่วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๑๔ เริ่มจากนักเรียน ๕๙ คน ครู ๓ คน
ในระยะแรกเปิดเรียนได้รับ อนุเคราะห์จากโรงเรียนสะบ้าย้อย (ป.ปลาย) ให้ใช้สถานที่เรียนชั่วคราวโดยมีนาย สุกิจ กิตยวัฒน์ ศึกษาธิการอำเภอ รักษาการในตำแหน่งครูใหญ่ ส่วนครูผู้สอนได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ให้ครูฝ่ายประถมศึกษา สังกัดหมวดการศึกษา อำเภอสะบ้าย้อย มาช่วยทำการสอน
ปีการศึกษา ๒๕๑๕ กรม สามัญศึกษาได้ส่งนายจรงค์ สำเภา มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่และได้จัดสรรอัตรากำลังครูพร้อมทั้งงบประมาณก่อสร้าง อาคารเรียน ๒๑๖ก จัดสร้างในเนื้อที่ดินดังกล่าว นอกจากนี้ประชาชนได้ ร่วมบริจาควัสดุและแรงงานก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราวแฝดขนาด ๔ ห้องเรียนให้ ๑ หลัง ในพื้นที่โรงเรียนแล้วเสร็จในปีการศึกษา ๒๕๑๖ เปิดใช้การในวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๑๖ ดังนั้นโรงเรียนจึงถือว่าวันที่ ๑๑ ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันเปิดสถาบันแห่งนี้ได้จัดให้มีการทำบุญโรงเรียนเป็นประเพณี ต่อมา
ในปีการศึกษา ๒๕๒๕ ประชาชนเป็นผู้ปกครองนักเรียนมีความต้องการที่จะให้บุตรหลานได้ศึกษาต่อใน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมากขึ้น โรงเรียนจึงได้ดำเนินการเปิดสอนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายขึ้น กรมสามัญศึกษาจึงอนุญาตให้เปิดทำการสอนได้ในปีการศึกษา ๒๕๒๖ จำนวน ๒ ห้องเรียน แบบสหศึกษา ในปีการศึกษานี้มีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ๕๔๖ คน ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ๙๐ คน รวม ๖๓๖ คน ครู-อาจารย์ ๔๐ คน ได้อนุมัติโรงเรียนตำแหน่งผู้บริหารให้เป็นตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน
๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ กรมสามัญศึกษาอนุมัติให้เปิดสาขาโรงเรียนสะบ้าย้อยวิทยา ณ ถ้ำตลอด ตำบลเขาแดง อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา อยู่ห่างจากโรงเรียนสะบ้าย้อยวิทยาประมาณ ๒๐ กิโลเมตร และในวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๓๔ นายบรรจง พงศ์ศาสตร์ รองอธิบดีกรมสามัญศึกษาในสมัยนั้นมาเปิดโรงเรียนอย่างเป็นทางการและในปีการ ศึกษา ๒๕๓๖ โรงเรียนสะบ้าย้อยวิทยาได้รับการแต่งตั้งเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาใหม่ชื่อ "โรงเรียนเขาแดงกุศลวิทยา"
ในปีการศึกษา ๒๕๓๕ โรงเรียนได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นสถานศึกษาที่ได้รับรางวัลพระราชทานมัธยมศึกษาขนาดเล็ก
ในปีการศึกษา ๒๕๔๒ โรงเรียนสะบ้าย้อยวิทยาได้รับการอนุมัติจากกรมสามัญศึกษา เข้าโครงการ "SchoolNet" ชื่อเว็ปไซด์ www.thai.net/saba
ในปีการศึกษา ๒๕๔๓ โรงเรียนสะบ้าย้อยวิทยาได้จัดตั้งชมรมศิษย์เก่าขึ้นโดยมี นายพินิจ แก้วเกาะสะบ้า ดำรงตำแหน่งประธานชมรมศิษย์เก่า และจัดตั้งชมรมผู้ปกครอง- ครู โดยมีนางกนิษฐา ศรีศักดา ดำรงตำแหน่งประธานชมรมผู้ปกครอง-ครูและ โรงเรียนมีคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานชุดแรก จำนวน ๑๕ คน โดยมีนายธำรง พรหมรัตน์ เป็นประธาน
๒๖ มีนาคม ๒๕๔๔ โรงเรียนได้รับเกียรติบัตร "โรงเรียนจัดกิจกรรมสร้างความเข้าใจและสานสัมพันธ์กับชุมชนดีเด่นของจังหวัด สงขลา" (โครงการตามนโยบายเร่งรัดพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้)
จากปี ๒๕๔๔ – ๒๕๕๗ โรงเรียนสะบ้าย้อยวิทยาได้มุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพโรงเรียนในด้านต่างๆ โดยเฉพาะทางด้าน ICT ได้มีการนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเป็นอย่างดี จนโรงเรียนได้รับการคัดเลือกให้เข้าสู่โครงการ "๑ อำเภอ ๑ โรงเรียนในฝัน" และนับเป็นโรงเรียนแรกของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสงขลา เขต ๓ ที่ผ่านการประเมินเป็นโรงเรียนต้นแบบในฝัน ซึ่งสร้างความภูมิใจให้กับชาวสะบ้าย้อยเป็นอย่างยิ่งที่มีโรงเรียนที่ดีให้ลูกหลานได้ศึกษาเล่าเรียนและมีคุณภาพเทียบเท่ากับโรงเรียนชื่อดังอื่นๆ ทั่วประเทศ
๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๗ ตัวแทนคณะครูและนักเรียนโรงเรียนสะบ้าย้อยวิทยาได้เดินทางไปเยี่ยมชม SMK PENDANG KEDAH, MALAYSIA ของประเทศมาเลเซีย เพื่อลงนาม MOC เพื่อรองรับการเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียน ในปี ๒๕๕๘ และต่อมาในวันที่ เดือน ๑๒ กันยายน ๒๕๕๗ โรงเรียน SMK PENDANG KEDAH, MALAYSIA ก็ได้ส่งตัวแทนคณะครู หัวหน้าการศึกษามาเยี่ยมชมโรงเรียนสะบ้าย้อยวิทยา
๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๘ โรงเรียนมีโอกาสต้อนรับ ท่านสุรยุทธ์ จุฬานนท์ องค์มนตรีที่ได้เดินทางมามอบถุงยังชีพ และเยี่ยมครอบครัวผู้ถวายฎีกาขอพระราชทานความช่วยเหลือ ณ โรงยิม ของโรงเรียนสะบ้าย้อยวิทยา ในโอกาสนี้ ผู้อำนวยการโรงเรียนได้รับมอบเกียรติบัตร รางวัล“โรงเรียนคุณธรรมดีเด่น” เพื่อเป็นกำลังใจให้นักเรียน ครู และผู้บริหารโรงเรียนสะบ้าย้อยวิทยา ประกอบคุณงามความดีตลอดไป
โรงเรียนสะบ้าย้อยวิทยา มีผู้บริหารตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน ดังนี้
๑. |
นายจรงค์ |
สำเภา |
๒๕๑๔ – ๒๕๒๔ |
๒. |
นายอภิชัย |
วชิรโชติ |
๒๕๒๔ – ๒๕๒๙ |
๓. |
นายประกอบ |
โสภณ |
๒๕๒๙ – ๒๕๓๒ |
๔. |
นายคำนึง |
นกแก้ว |
๒๕๓๒ – ๒๕๓๔ |
๕. |
นายพูลศักดิ์ |
โชตพานิช |
๒๕๓๔ – ๒๕๓๖ |
๖. |
นายสุดใจ |
สิงห์หนู |
๒๕๓๖ – ๒๕๓๙ |
๗. |
นายสมทบ |
ชิตานนท์ |
๒๕๓๙ – ๒๕๔๐ |
๘. |
นายประสาน |
ตรีวรรณไชย |
๒๕๔๐ – ๒๕๔๕ |
๙. |
ว่าที่ร.ต.ทรงเกียรติ |
พืชมงคล |
๒๕๔๕ – ๒๕๕๒ |
๑๐. |
นายเฉลิม |
รักษ์กุล |
๒๕๕๒ – ๒๕๕๔ |
๑๑. |
นายกิตติ์ภูมิ |
คงศรี |
๒๕๕๔ – ๒๕๕๘ |
๑๒. |
นายทวี |
ผ่องแผ้ว |
๒๕๕๘ – ๒๕๖๑ |
๑๓. |
นายโชคชัย |
ชัยธรรมโชค |
๒๕๖๑ – ๒๕๖๓ |
๑๔. |
นางฐาปนี |
มะลี |
๒๕๖๓ – ปัจจุบัน |